ที่มาของคำ ของ ตรีทูต (แพทยศาสตร์)

ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า คำว่า "ตรีทูต" นี้มีที่มาอยู่สองประการ ดังต่อไปนี้

1. เป็นคำอุปมาของแพทย์แผนโบราณหรือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่ว่า คนเรามีเจตภูตอยู่สี่ภูต เวลาจะตายเจตภูตนี้จะออกจากร่างกายไปสามภูต เหลืออีกภูตหนึ่งแสดงว่าอาการร่อแร่ เรียกว่า "ตรีภูต" แต่ต่อมาเพี้ยนกลายเป็น "ตรีทูต"[3]

2. เป็นคำอุปมาของแพทย์แผนโบราณหรือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่ว่า เวลาคนใกล้จะตาย ยมบาลจะส่งทูตมาสามตนมาเอาวิญญาณไป ทูตมาแล้วสามตน ถ้ามาอีกหนึ่งตนก็ตายแน่แล้ว เรียกว่า "ตรีทูต"[2]

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ประเสริฐ กังสดาลย์ ยังกล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกว่า[3] ตามหลักฐานแล้วยังไม่พบคำอธิบายสำหรับข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ยังมีคำอธิบายสำหรับคำว่า "ตรีโทษ" ซึ่งหมายความว่า อาการไข้หนักจวนจะตาย[1] โดยคำว่า "ตรีโทษ" นี้อาจจะเพี้ยนมาเป็น "ตรีทูต" ก็ได้